บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

ข้อสอบความหมายของคำ ชุดที่ 5

ขอให้ท่านทำข้อสอบก่อน โดยจดคำตอบไว้ แล้วไปดูเฉลยด้านล่าง

ข้อที่  1.  ความหมายของคำในข้อใด ไม่เข้าพวก
ก.  ข้าวเหนียว
ข.  ข้าวเจ้า
ค.  ข้าวหลาม
ง.  ข้าวพอง

ข้อที่  2.  ความหมายของคำในข้อใด ไม่เข้าพวก
ก.  ลาก
ข.  ดัน
ค.  สาว
ง.  ดึง

ข้อที่  3.  ความหมายของคำในข้อใด ไม่เข้าพวก
ก.  เชือด
ข.  เฉือน
ค.  กรีด
ง.  ปาด

ข้อที่  4.  ความหมายของคำในข้อใด ไม่เข้าพวก”
ก.  ร้อน
ข.  ขม
ค.  ฝาด
ง.  หวาน

ข้อที่  5.  ความหมายของคำในข้อใด ไม่เข้าพวก
ก.  อืดอาด
ข.  งุ่มง่าม
ค.  เซ่อซ่า
ง.  อุ้ยอ้าย

เฉลย

ข้อที่  1.  ความหมายของคำในข้อใด ไม่เข้าพวก
ก.  ข้าวเหนียว
ข.  ข้าวเจ้า
ค.  ข้าวหลาม
ง.  ข้าวพอง

วิเคราะห์

คำในคำตอบ พจนานุกรมเขียนไว้ ดังนี้

ข้าว  น. ชื่อไม้ล้มลุกหลายชนิดหลายสกุลในวงศ์ Gramineae โดยเฉพาะชนิด Oryza sativa L. เมล็ดเป็นอาหารหลัก มีหลายพันธุ์ เช่น ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว.
ข้าวเหนียว  น. ชื่อข้าวพันธุ์หนึ่งของชนิด Oryza sativa L. เนื้อเมล็ดขุ่นกว่าข้าวเจ้า เมื่อหุงหรือนึ่งแล้วเมล็ดจะเหนียวติดกัน มีชื่อต่างๆ กัน เช่น ข้าวเหนียวเขี้ยวงู ข้าวเหนียวดํา, ข้าวเหนียวที่เอามากวนกับกะทิและนํ้าตาลทราย เรียกว่า ข้าวเหนียวแก้ว, ถ้าเอามากวนกับกะทิและนํ้าตาลหม้อมีสีแดงเป็นสีนํ้าตาลไหม้ เรียกว่า ข้าวเหนียวแดง, ถ้าเอามานึ่งใส่หน้ากะทิตัดเป็นชิ้นๆ เรียกว่า ข้าวเหนียวตัด, ถ้าเอามาห่อแล้วนึ่งใส่หน้ากะทิ เรียกว่า ข้าวเหนียวห่อ;
เรียกผลไม้ที่มีเนื้อนุ่มและเหนียวอย่างข้าวเหนียว เช่น สาเกข้าวเหนียวมะตาดข้าวเหนียว.
ข้าวเจ้า  น. ชื่อข้าวพันธุ์หนึ่งของชนิด Oryza sativa L. เนื้อเมล็ดใสใช้หุงเป็นอาหาร เมื่อหุงแล้วเมล็ดมักร่วนและสวย มีชื่อต่างๆ กัน เช่น ข้าวปิ่นแก้ว ข้าวมันปู. (ไทยใหญ่ เจ้าว่า เปราะ, ร่วน, ไม่เหนียว).
ข้าวหลาม  น. ข้าวเหนียวที่บรรจุในกระบอกไม้ไผ่แล้วเผาให้สุก.
ข้าวพอง  น. ชื่อขนมชนิดหนึ่ง ทําด้วยเมล็ดข้าวเจ้าทอดน้ำมันให้พองเคล้ากับน้ำตาลแล้วอัดเป็นแผ่น.
คำตอบที่น่าจะถูกคือ “ข้าวหลาม” กับ “ข้าวพอง”  แต่ข้าวหลามนั้น สภาพของเมล็ดข้าวยังอยู่ในลักษณะเช่นเดิมอยู่  แต่ข้าวพอง เมล็ดได้เปลี่ยนสภาพไปแล้ว 
คำตอบที่ถูกต้องคือ ข้อ ง.  

ข้อที่  2.  ความหมายของคำในข้อใด ไม่เข้าพวก
ก.  ลาก
ข.  ดัน
ค.  สาว
ง.  ดึง

วิเคราะห์

คำในคำตอบ พจนานุกรมเขียนไว้ ดังนี้

ลาก  ก. ทําให้เคลื่อนที่ตามไปโดยวิธีต่างๆ เช่น ดึง ฉุด ระไป ถูไป ล่ามไป โยงไป เช่น ลากเกวียน ม้าลากรถ กระโปรงยาวลากดิน; โดยปริยายหมายความว่า ใช้อย่างสมบุกสมบัน, ใช้ถูไถ, เช่น เอาผ้าซิ่นไหมมานุ่งลากอยู่กับบ้าน.
ว. ที่ทำให้เคลื่อนที่ตามไปโดยวิธีต่างๆ เช่น ดึง ฉุด ระไป ถูไป ล่ามไปโยงไป เช่น รถลาก.
ดัน  ก. ผลักเพื่อให้เคลื่อนไปด้วยกําลัง เช่น ดันประตู; (ปาก) โดยปริยายหมายถึงขืนทํา เช่น กางเกงคับยังดันสวมเข้าไปได้, ทําในสิ่งที่ไม่น่าจะทํา เช่น ดันขึ้นไปอยู่บนยอดไม้.
สาว  ก. ชักหรือดึงสิ่งที่เป็นเส้นยาวๆ ออกจากที่เข้าหาตัว เช่น สาวไหม สาวเชือก; โดยปริยายหมายถึงอาการที่คล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น สาวความ.
ดึง  ก. เหนี่ยวมา, ฉุดมา, รั้งมา; ดีด เช่น ดึงพิณ ว่า ดีดพิณ.

คำว่า “ลาก   สาว   ดึง” หมายถึงว่า ทิศทางของสิ่งของจะเข้าหาผู้กระทำ  ส่วนคำว่า “ดัน” ทิศทางของสิ่งของจะออกไปจากผู้กระทำ
คำตอบที่ถูกต้องคือ ข้อ ข.

ข้อที่  3.  ความหมายของคำในข้อใด ไม่เข้าพวก
ก.  เชือด
ข.  เฉือน
ค.  กรีด
ง.  ปาด

วิเคราะห์

คำในคำตอบ พจนานุกรมเขียนไว้ ดังนี้

เชือด  ก. ใช้ของมีคม เช่น มีดโกนตัดให้ลึกเข้าไปในเนื้อ เช่น เชือดคอ.
เฉือน  ก. เชือดแบ่งเอาแต่บางส่วน, โดยปริยายหมายความว่า ชนะไปนิดเดียว, ชนะอย่างหวุดหวิด.
กรีด [กฺรีด] ก. ขีดให้เป็นรอยหรือให้ขาด เช่น เอากากเพชรกรีดกระจก เอามีดกรีดใบตองเย็บกระทง; ระไป, ครูดไป, เช่น เอาหลังเล็บกรีดลูกทุเรียนเพื่อให้รู้ว่ากินได้หรือยัง; เอาคมมีดสะบัดบนของแข็งเพื่อให้คม เช่น เอามีดกรีดหินเพื่อให้คม กรีดมีดบนปากชาม.
ปาด ก. เอาส่วนที่ไม่ต้องการออกโดยวิธีฝานบางๆ หรือกวาดออก เช่น ปาดผลไม้ส่วนที่เสียออก ปาดปากถังปากสัดปากทะนาน, โดยปริยายหมายความว่า เอาของมีคมฟันแฉลบๆ เช่น เอามีดปาดหน้า.
คำว่า “เชือด   เฉือน   ปาด” จะใช้ส่วนที่เป็นคมมีด  ส่วน “กรีด” จะใช้ปลายมีด
คำตอบที่ถูกต้องคือ ข้อ ค.

ข้อที่  4.  ความหมายของคำในข้อใด ไม่เข้าพวก”
ก.  ร้อน
ข.  ขม
ค.  ฝาด
ง.  หวาน

วิเคราะห์

คำในคำตอบ พจนานุกรมเขียนไว้ ดังนี้

ร้อน  ว. มีความรู้สึกตามผิวหนังเหมือนถูกไฟเป็นต้น, ตรงข้ามกับ เย็น; กระวนกระวาย เช่น ร้อนใจ; รีบเร่ง, ช้าอยู่ไม่ได้.
ขม  ว. รสอย่างหนึ่งอย่างรสสะเดาหรือบอระเพ็ด.
ฝาด  ว. รสชนิดหนึ่งอย่างรสหมากดิบทําให้ฝืดคอ กลืนไม่ลง นํ้าลายแห้ง.
หวาน  ว. มีรสอย่างรสนํ้าตาล; เพราะ เช่น หวานหู เสียงหวาน, ชุ่มชื่น, ที่รัก เช่น หวานใจ;
น่ารักชวนมอง เช่น หน้าหวาน; อ่อนสดใส ในคำว่า สีหวาน;
(ปาก) ที่ทำได้ง่าย, ที่ทำได้สะดวก, เช่น เลขข้อนี้หวานมาก.
ก. ชำรุด ไม่กินเกลียวกัน ในคำว่า เกลียวหวาน.

คำว่า “ขม   ฝาด   หวาน” เป็นรสของอาหาร  ส่วน “ร้อน” เป็นระดับของอุณหภูมิ
คำตอบที่ถูกต้องคือ ข้อ ก.

ข้อที่  5.  ความหมายของคำในข้อใด ไม่เข้าพวก
ก.  อืดอาด
ข.  งุ่มง่าม
ค.  เซ่อซ่า
ง.  อุ้ยอ้าย

วิเคราะห์

คำในคำตอบ พจนานุกรมเขียนไว้ ดังนี้

อืดอาด  ว. เฉื่อยชา, ยืดยาด.
งุ่มง่าม  ว. ชักช้า, ไม่คล่องแคล่วว่องไว.
เซ่อซ่า  ว. เซ่อมาก, เร่อร่า, เล่อล่า, กะเร่อกะร่า หรือ กะเล่อกะล่า ก็ว่า.
อุ้ยอ้าย  ว. ไม่คล่องแคล่ว, เคลื่อนตัวยากอย่างคนอ้วน.

คำว่า “อืดอาด   งุ่มง่าม   อุ้ยอ้าย” เป็นการเคลื่อนไหว  ส่วน “เซ่อซ่า” เป็นกิริยาที่แสดงถึงความไม่ฉลาด

คำตอบที่ถูกต้องคือ ข้อ ค. 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น